Last updated: 22 ธ.ค. 2559 | 3267 จำนวนผู้เข้าชม |
สุดยอดความสนุกและพิศดารของงานแต่งงานในแบบรัสเซีย
เชื่อหรือไม่ว่า คนรัสเซียเค้าให้ความหมายของงานแต่งงานว่า “Русская свадьба не может без драки” หรือแปลได้ว่า งานแต่งงานไหนที่แขกในงาน ไม่เมาเละเทะจนหัวราน้ำ หรือไม่มีการชกต่อยกันในงาน แสดงว่างานแต่งงานนั้นไม่ใช่งานแต่งงานของชาวรัสเซีย งานแต่งงานที่สนุก และดีที่สุดในความหมายของคนรัสเซีย คืองานแต่งงานที่เจ้าภาพสร้างความสุขให้กับแขกในงานได้อย่างแท้จริง และหนึ่งในความสุขที่ชาวรัสเซียให้ความสำคัญ นั้นคือ ความสุขของการได้ดื่มฉลองให้กับวันสำคัญของคู่บ่าวสาวนั่นเอง การชกต่อยที่ว่านี้ ไม่ใช่การแสดง แต่เกิดจากการที่แขกในงาน เช่น บรรดาญาติๆ ของบ่าวสาว หรือเพื่อนฝูง ที่ดื่มกันจนเมามายและท้ายที่สุดก็จบกันที่หมัดมวย แต่เรื่องเหล่านี้ คนรัสเซียเค้าถือว่าเป็นเรื่องปกติในงานแต่ง เพราะแสดงให้เห็นว่า เจ้าภาพได้จัดงานเลี้ยงฉลองได้อย่างเยี่ยมยอดจนสามารถทำให้คนในงานเมามายกันได้ขนาดนั้น..... แต่ถ้าเป็นงานของชาวไทยละก็.....สงสัยจะได้จะทะเบียนหย่ากันวันนั้นแน่ๆ
การเรียนรู้วัฒนธรรมและประเพณีการแต่งงานของคนแต่ละเชื้อชาติ นับเป็นเรื่องที่น่าสนุก เพราะแต่ละเชื้อชาติ ศาสนา ต่างมีความเชื่อ ประเพณี วัฒนธรรมที่แตกต่างกันไป เช่น ประเพณีการแต่งงานของชาวรัสเซียที่กำลังจะพูดถึงนี้ มีทั้งส่วนที่คล้ายและแตกต่างไปจากสังคมไทย บางเรื่องอาจจะทำให้คนไทยอย่างเราๆ เกิดความรู้สึกขบขันกับความแตกต่างนั้นอยู่บ้าง และอาจจะมองไม่เห็นความหมายของเรื่องบางเรื่องมากไปกว่าความสนุก แต่สำหรับชาวรัสเซียแล้ว เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดในงานแต่งงาน ล้วนเป็นเรื่องที่มีความหมายที่ทุกคนจะต้องให้ความสำคัญ และในบางเรื่องที่เราคิดว่าไม่สำคัญ แต่สำหรับเค้าแล้วกลับกลายเป็นเรื่องที่ “ขาดไม่ได้”
เราลองมาเริ่มทำความรู้จักกับ ประเพณีการแต่งงานของชาวรัสเซียอย่างคร่าวๆ กันซักนิดนึง กล่าวคือ ในสมัยก่อนนั้น ประเพณีการแต่งงานของเค้าก็ค่อนข้างคล้ายกันกับประเพณีไทย คือ ฝ่ายชายจะให้พ่อแม่ของตนไปสู่ขอฝ่ายหญิง แต่ปัจจุบันประเพณีรูปแบบนี้ค่อยๆ จางหายไป กลายเป็นฝ่ายหญิงเป็นผู้ที่พูดกับพ่อแม่ของตนเองถึงความต้องการในการแต่งงานของฝ่ายชายเอง การแต่งงานของรัสเซียไม่มีสินสอดทองหมั้นเยอะแยะมากมายเช่นไทยเรา สิ่งสำคัญที่จะต้องมีในงานแต่งทุกงาน ก็คือ แหวนที่ฝ่ายชายจะมอบให้กับฝ่ายหญิง และแหวนที่ฝ่ายหญิงจะมอบให้กับฝ่ายชาย ก่อนที่คู่บาวสาวจะเดินทางไปจดทะเบียนสมรส ฝ่ายชายจะไปรับเจ้าสาวจากที่บ้าน ซึ่งเป็นที่รวมตัวกันของบรรดาญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง และบรรดาแขกเหรื่อของเจ้าสาว ก่อนที่เจ้าบ่าวจะเข้าไปถึงตัวเจ้าสาว จะต้องผ่านการทดสอบต่างๆ ของบรรดาญาติพี่น้อง และเพื่อนฝูงของเจ้าสาว ในประเพณีนี้ ชาวรัสเซียเรียกว่า Выкуп невесты หรือแปลเป็นไทยว่า พิธีการไถ่ตัวเจ้าสาว ที่มักจะจัดทำเกมสนุกๆ ให้เจ้าบ่าวทำตาม ยากบ้างง่ายบ้าง เพื่อทดสอบความอดทน และความอุตสาหะของเจ้าบ่าว เช่น ให้ทำตามคำสั่งต่างๆ ให้ร้องเพลง ให้เต้นท่าทางแปลกๆ ให้ทายปัญหา จากนั้นก็ขอเก็บค่าผ่านทาง ซึ่งเจ้าบ่าวอาจจะให้เป็นขนมนมเนย ลูกอม ช้อกโกแล็ต หรือเงิน กิจกรรมก่อนเข้าถึงตัวเจ้าสาวนั้น ก็คล้ายกันกับไทยที่เรียกว่า ประตูเงินประตูทอง โดยชาวรัสเซียให้ความหมายของกิจกรรมนี้เป็นนัยๆ ว่า การที่เจ้าบ่าวสามารถทำลายกำแพงที่กั้นอยู่จนสามารถไปหาเจ้าสาวได้ เขาก็เป็นผู้ที่เหมาะสมแล้วที่จะได้ครอบครองเจ้าสาวไป
ขอย้อนกลับไปอีกนิดในคืนก่อนงานแต่งงาน ประเพณีหนึ่งที่ฝ่ายเจ้าบ่าวมักจะทำกัน คือ เจ้าบ่าวจะชวนเพื่อนฝูงมาที่บ้านเพื่อเลี้ยงอำลาความโสดเป็นครั้งสุดท้าย เพราะนับตั้งแต่พรุ่งนี้ไป เค้าจะเริ่มเข้าสู่การใช้ชีวิตคู่ ความเป็นอิสระ และความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนในรูปแบบเก่าๆ คงต้องจบลง
หลังจากที่เจ้าบ่าวไปรับเจ้าสาวจากบ้านมาเรียบร้อยแล้ว ก็จะมุ่งหน้าไปจดทะเบียนสมรสกันที่สำนักงานทะเบียน ในขั้นตอนนี้ เจ้าบ่าวและเจ้าสาวในปัจจุบันมักเช่ารถลีมูซีนหรือรถราคาแพงเพื่อเฉลิมฉลองไปตลอดทางตั้งแต่ออกจากบ้านจนกว่าจะถึงสำนักงาน หลังจากการจดทะเบียนสมรสที่หน่วยงานกลางหรือในโบสถ์แล้ว หน้าประตูจะมีการโปรยเงิน (คล้ายๆ เหรียญ สตางค์บ้านเรา)และลูกอม ให้กับคู่บ่าวสาว โดยเงินมีความหมายถึง ความร่ำรวย และลูกอม คือ ความหวานชื่น จากนั้นคู่บ่าวสาวก็จะเดินทางไปตามสถานที่สำคัญๆ ต่างๆ ของเมืองเพื่อถ่ายรูปเก็บไว้เป็นที่ระลึก ระหว่างนี้จะมีการดื่มเฉลิมฉลองตลอดทาง เมื่อเสร็จเรียบร้อย คู่บ่าวสาวก็พากันไปยังสถานที่จัดงานเลี้ยง และในขั้นตอนนี้เอง ประเพณีที่สำคัญของคู่บ่าวสาวก็ได้เกิดขึ้น นั่นก็คือ ประเพณีการต้อนรับคู่แต่งงานใหม่
หนึ่งในประเพณีที่ชาวรัสเซียมักทำกันคือ การโยนแก้วไวน์ของเจ้าบ่าวและเจ้าสาว ซึ่งการทำแก้วไวน์ให้แตกนั้น สื่อความหมายว่า ความสุขของเขาทั้งสองคนจะไม่มีวันเต็มเหมือนกับแก้วไวน์นั้น โดยมีข้อแม้ว่า แก้วไวน์นั้นจะต้องไม่มีรอยร้าวมาก่อน ดังนั้น ก่อนที่เจ้าบ่าวและเจ้าสาวจะเริ่มพิธีนี้ แก้วทั้งสองใบจะถูกห่อหุ้มด้วยกระดาษมาเป็นอย่างดี ปกติแล้วการโยนแก้วไวน์นั้นจะทำก่อนการอ่านสัญญาการแต่งงานของบ่าวสาว
ในสมัยก่อน หลังจากการแต่งงานแล้ว เจ้าสาวจะต้องย้ายเข้าไปอยู่กับครอบครัวของเจ้าบ่าว ดังนั้น ที่บ้านเจ้าบ่าวจึงมีประเพณีการต้อนรับคู่บ่าวสาวเข้าสู่เรือน แต่ปัจจุบัน คู่แต่งงานส่วนใหญ่มักจะย้ายออกไปอยู่กันลำพัง แต่อย่างไรก็ตาม ประเพณีการต้อนรับนี้ก็ยังคงหลงเหลืออยู่ ซึ่งอาจจะเปลี่ยนแปลงไปบ้างจากที่แต่เดิมจัดขึ้นที่บ้านเจ้าบ่าว ปัจจุบันกลายมาเป็นจัดที่สถานที่จัดงานเลี้ยงแทน โดยในประเพณีนี้นั้น พ่อแม่ของบ่าวสาวจะออกมาต้อนรับคู่แต่งงานใหม่ โดยแม่ของเจ้าบ่าวจะถือก้อนขนมปัง (มีลักษณะเป็นก้อนกลมๆ) ด้านบนมีถ้วยเกลือเล็กๆ ตั้งอยู่ เมื่อมาถึงจุดนี้ ผู้อ่านคงกำลังตั้งคำถามอยู่ในใจ ว่า ”แล้วไอ้เกลือกับขนมปังนี่มันเกี่ยวอะไรด้วยกันงานแต่งงาน” ทั้งนี้ก็เพราะว่า ในสมัยก่อนทั้งเกลือและขนมปังล้วนเป็นของที่หาได้ยาก การที่พ่อแม่ของเจ้าบ่าวออกมาต้อนรับด้วยขนมปังกับเกลือ ก็หมายถึง ครอบครัวยินดีต้อนรับคู่บ่าวสาวเข้ามาอยู่ภายใต้ชายคาเดียวกันอย่างเต็มใจที่สุด และแม้ว่าของที่แพงและหายากที่สุดที่ครอบครัวมีอยู่ ก็ไม่เสียดายที่จะนำเอาออกมาต้อนรับ หรือในอีกความหมายนึงคือ การที่เจ้าบ่าวและเจ้าสาวกัดก้อนขนมปังจากก้อนเดียวกันนั้น แสดงให้เห็นว่า ทั้งเจ้าบ่าวและเจ้าสาวยินดีที่จะร่วมทุกข์ร่วมสุขด้วยกัน หลังจากการให้ศีลให้พรของบรรดาพ่อแม่กับคู่บ่าวสาวใหม่ คู่บ่าวสาวจะโรยเกลือที่ขนมปังจากนั้นก็ผลัดกันกัดก้อนขนมปังที่ท่านถืออยู่ในมือกิน ในขั้นตอนนี้ห้ามใช้มือโดยเด็ดขาด การกัดก้อนขนมปังนั้นแฝงไปด้วยความเชื่อที่ว่า ใครที่กินขนมปังก้อนใหญ่กว่า คนนั้นคือผู้ที่เป็นใหญ่ในครอบครัว ซึ่งการให้ความหมายเช่นนี้เพิ่งมีได้ไม่นาน เพราะในสมัยก่อนผู้ที่เป็นใหญ่ในครอบครัวคือผู้ชายเท่านั้น ก้อนขนมปังที่เจ้าบ่าวและเจ้าสาวกัดกินแล้วนั้น แม่เจ้าบ่าวจะต้องไม่ให้ใครแตะต้องอีก โดยจะนำเอาไปเก็บรักษาไว้อย่างดี และในวันรุ่งขึ้นก็นำก้อนขนมปังก้อนที่เหลือนั้นไปบริจาคที่โบสถ์ โดยมีความเชื่อว่า จะทำให้ครอบครัวของบ่าวสาวอยู่ด้วยกันอย่างราบรื่น แต่อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนนี้บางแห่งก็เป็นที่ยอมรับ ให้คู่บ่าวสาว สามารถที่จะหักก้อนขนมปังนั้นคนละครึ่ง โดยให้แต่ละคนนำไปป้อนให้กับแขกเหรื่อที่มาในงานกิน ขนมปังของใครหมดก่อน แสดงให้เห็นว่าคนนั้นจะเป็นผู้หาเลี้ยงครอบครัว
หลังจากประเพณีการต้อนรับบ่าวสาวเสร็จสิ้นลง การเลี้ยงฉลองก็จะเริ่มต้นขึ้น ภายในงานเลี้ยงฉลอง บรรดาแขกในงานโดยเริ่มต้นจากพ่อแม่ของคู่บ่าวสาวและแขกที่อาวุโสจะเป็นผู้เริ่มให้พรกับคู่แต่งงานใหม่ ในช่วงของการให้พรนี้ ก็จะสลับกับการชนแก้วเครื่องดื่ม ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นว้อดก้า หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่างๆ ซึ่งหลังจากการชนแก้วแล้ว เพื่อเป็นเกียรติให้กับเจ้าบ่าวและเจ้าสาวนิยมดื่มเครื่องดื่มในแก้วให้หมดเพียงครั้งเดียว หลังจากนั้น บรรดาแขกในงานก็จะตะโกน คำว่า กอรก้า (Горько) ขึ้น ซึ่งมีความหมายว่า ขม ณ จุดนี้แสดงให้เห็นว่าเจ้าบ่าวและเจ้าสาวจะต้องลบความขมนั้นออกไปด้วยการจูบกันให้นานที่สุด จนกว่าความขมนั้นจะกลายเป็นความหวาน ขณะเดียวกันนั้นบรรดาแขกในงานจะนับ หนึ่ง สอง สาม ไปเรื่อยๆ แสดงถึงความยาวนานของการจูบนั้น โดยถือว่า ยิ่งคู่บ่าวสาวจูบกันนานเท่าไหร่ ความรักของทั้งสองจะมั่นคงและยืนยาวขึ้นเท่านั้น ดังนั้น บรรดาแขกในงานจึงพยายามให้คู่บ่าวสาวจูบกันบ่อยที่สุดและพยายามให้นานที่สุด ซึ่งในขั้นตอนนี้ ทั้งเจ้าบ่าวและเจ้าสาวจะเขินอายเป็นอย่างมาก
นอกจากนี้แล้ว ยังมีอีกประเพณีหนึ่งที่สำหรับชาวไทยอย่างเราแล้วถือว่าแปลก คือ การลักพาตัวเจ้าสาวออกไปจากงานเลี้ยง โดยผู้ที่ลักพาตัวนั้น มักจะเป็นเพื่อนๆ หรือบรรดาญาติของเจ้าสาว โดยจะเอาเจ้าสาวไปซ่อน จากนั้น เจ้าบ่าวจะต้องทำหน้าที่เป็นฝ่ายหาเจ้าสาวให้เจอ โดยจะมีเพื่อนเจ้าบ่าวและญาติฝ่ายเจ้าบ่าวเป็นผู้คอยช่วยเหลือ นับเป็นช่วงเวลาที่แขกทุคนในงานสนุกสนานกันเป็นอย่างมาก
ในระหว่างงานเลี้ยง เพื่อนเจ้าบ่าวและเจ้าสาวนิยมมอบของขวัญให้กัน ของขวัญส่วนใหญ่ที่มักมอบให้กันมักจะเป็นของใช้จำเป็นสำหรับการสร้างครอบครัวใหม่ เช่น เตารีด เครื่องใช้สอยภายในบ้าน ต่างๆ ก่อนการจบงานเลี้ยง มีการรับเอาวัฒนธรรมแบบตะวันตกเข้ามา เช่นเดียวกับงานแต่งงานบางงานของคนไทยเรา นั่นก็คือ การหันหลังโยนช่อดอกไม้ของเจ้าสาว โดยเชื่อว่า ผู้หญิงคนใดที่ได้รับช่อดอกไม้จากเจ้าสาวได้ จะเป็นคนต่อไปที่จะได้แต่งงาน เมื่อประเพณีการแต่งงานดำเนินมาจนถึงการส่งตัวเจ้าบ่าวและเจ้าสาวเข้าห้องหอ ซึ่งถือว่าเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการแต่งงานในวันนั้น ระหว่างทางก็จะมีการโรยด้วยข้าวโอ๊ดและข้าวฟ่าง หรือบางครั้งเพื่อความสวยงามก็จะผสมด้วยกลีบกุหลาบ แต่ประเพณีนี้ปัจจุบันค่อยๆ ลบเลือนลงและกำลังจะจางหายไปจากสังคมรัสเซีย
ปัจจุบัน ประเพณีการแต่งงานในหมู่ของชาวรัสเซียก็อาจมีความแตกต่างกันไปบ้าง ส่วนหนึ่งได้รับอิทธิพลจากวัฒธรรมตะวันตกและอเมริกา แม้ว่า การเรียนรู้วัฒนธรรมและประเพณีการแต่งงานของชาวรัสเซีย จะทำให้เราได้รับรู้ถึงความแตกต่างทั้งรูปแบบของพิธีกรรมและความเชื่อ อย่างไรก็ตาม ความหมายของการแต่งงาน ไม่ว่าเชื้อชาติไหน ศาสนาไหน ล้วนให้ความหมายเดียวกัน คือ การประกาศให้กับสังคมได้รับรู้ถึงการเริ่มต้นขึ้นของชีวิตคู่ระหว่างคนสองคน ซึ่งในงานไม่ว่าจะจัดขึ้นที่ใดในโลกนี้ ภายในงานล้วนตลบอบอวลไปด้ยกลิ่นอายของความสุขและความปิติยินดีของบรรดาแขกในงาน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งความอิ่มเอมใจคู่บ่าวสาวเอง แม้แต่คำอวยพรของแขกในงานแต่งงานทุกคนในโลกนี้ ต่างล้วนมีเป้าหมายเดียวกัน คือ ต้องการให้คู่บ่าวสาวรักกัน อยู่เคียงข้างกันอย่างมีความสุขและเป็นเช่นนั้นตลอดไปตราบนานเท่านาน
9 เม.ย 2564
22 พ.ค. 2564
9 เม.ย 2564