สงคราม...เศษขนมปัง...ความอดอยาก...และความสูญเสียที่ไม่อาจกลับมา

Last updated: 31 ม.ค. 2560  |  3012 จำนวนผู้เข้าชม  | 

สงคราม...เศษขนมปัง...ความอดอยาก...และความสูญเสียที่ไม่อาจกลับมา

สงคราม...เศษขนมปัง...ความอดอยาก...และความสูญเสียที่ไม่อาจกลับมา

เมื่อไม่นานมานี้ผู้เขียนได้มีโอกาสอ่านบทความในเวปไซต์หนึ่งของรัสเซียที่พูดถึงช่วงของการปิดล้อมเมืองเลนินกราด (ปัจจุบันคือเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก) และความเป็นอยู่ของชีวิตผู้คนในเมือง ณ เวลานั้น ระหว่างที่อ่านเรื่องราวไปก็ทำให้ย้อนกลับไปนึกถึงพิพิธภัณฑ์หนึ่งที่ผู้เขียนเคยไปเยือนที่มีชื่อว่า “พิพิธภัณฑ์ขนมปัง” «Музей хлеба» ต้องบอกเลยว่า ตอนแรกที่ได้ยินชื่อมิวเซียมนี้ก็นึกขำปนสงสัยว่า “กะอีแค่ขนมมันจำเป็นต้องเอามาทำเป็นมิวเซี่ยมเลยเหรอวะ” ความคิดนี้หายไปสิ้นหลังจากที่ได้ก้าวเท้าออกมาจากที่นั่น และแม้ว่าวันเวลาของการไปเยือนที่นั่นมันอาจจะผ่านมานมนานแล้ว แต่ความทรงจำและความรู้สึกสงสารปนหดหู่ยังคงอยู่จนปัจจุบันและทุกครั้งที่ผู้เขียนได้ระลึกถึงมัน

เราจะไม่รู้ถึงความหมายของ ขนมปังหนึ่งก้อนเล็กๆ ที่มีน้ำหนักเพียง 125 กรัม ว่ามันมีความสำคัญกับชีวิตของคนแค่ในตราบเท่าที่เราไม่เคยสัมผัสกับความยากลำบากในช่วงสงคราม ขอย้อนกลับไปเล่าถึงสถานการณ์ในช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ชาวเมืองเลนินกราดขณะนั้นอยู่ในภาวะที่สิ้นไร้ไม้ตอก เมืองถูกปิดล้อมจากกองกำลังฝ่ายตรงข้าม โดยไม่มีเคยได้ล่วงรู้มาก่อนว่าอีกไม่นานนักสถานการณ์ของความอดอยากจะคืบคลานเข้ามา ในวันที่ 8 กันยายน ปี 1941 หลังจากการประกาศของรัฐว่าเมืองถูกปิดล้อม บรรดาร้านค้า ตลาด โรงเลี้ยงสัตว์ถูกปิดหมด สินค้าและวัตถุดิบต่างๆ ถูกส่งไปยังกองกลางเพื่อเป็นเสบียงไว้ใช้ในช่วงสงคราม เงินที่แต่ละคนถือกันอยู่กลับกลายเป็นเพียงแค่กระดาษใบหนึ่งที่ไม่หลงเหลือแม้แต่คุณค่าอะไร ณ เวลานั้น ชาวเมืองก็ไม่เคยชินหรือเห็นความสำคัญของการกักตุนอาหารที่มากมายมาก่อน ประกอบกับเหตุการณ์เกิดในช่วงหน้าหนาวยิ่งเป็นไปไม่ได้เลยที่จะปลูกอาหารเพื่อประทังชีวิตในอุณหภูมิระดับติดลบ และในเวลาไม่นานนักสถานการณ์เลวร้ายที่เกิดจากการขาดแคลนอาหารก็เกิดขึ้น

ในเวลานั้นชาวเมืองแต่ละคนจะได้รับคูปองเพื่อไปยืนต่อคิวรับอาหารที่รัฐจัดสรรให้ โดยขนมปังถูกตัดแบ่งโดยมีน้ำหนักที่เท่าเทียมกันให้พอประทังชีวิตในแต่ละวัน ผู้ชายถูกเกณฑ์ไปช่วยสงครามในฐานะทหาร ในขณะที่ผู้หญิงก็ทำงานหนักไม่แพ้กัน ความหิวโหยทำให้ผู้คนต้องแก่งแย่งกันเพื่อประทังชีวิต ขนมปังที่แต่ละคนได้รับก็ได้เพียงเล็กน้อยไม่พอประทังความหิว และที่สำคัญกว่าจะได้มันมาก็ต้องต่อสู้กับสภาพอากาศติดลบกว่า 30 องศาฯ และคิวที่ยาวเหยียด นับวันความขาดแคลนอาหารของชาวเมืองก็ยิ่งทวีคูณขึ้น สัตว์เลี้ยงภายในบ้านไม่ว่าจะเป็นหมาแมวถูกนำมาฆ่ากินกันตาย ไม่เว้นแม่แต่กระดาษหนังสือพิมพ์ รองเท้าหนังสัตว์ที่ตนเองเคยใช้สวมใส่ก็ตาม ขนมปังที่ทำขึ้นเองในบ้านบางทีก็เกิดจากเศษกระดาษและของเหลือๆ ที่อยู่ภายในบ้าน

เด็กที่เสียชีวิตจากการขาดแคลนอาหารล้มตายอย่างต่อเนื่อง เรื่องราวหนึ่งที่สร้างความหดหู่ใจให้กับชาวเมืองมากที่สุดก็คือ จดหมายของเด็กนักเรียนผู้หญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่งวัยประมาณ 9 ขวบ ที่ชื่อว่า ตัทยานา ซาวิชิว่า ที่เขียนบันทึกไว้ในกระดาษทั้งหมด 9 หน้า ว่า

«28 ธันวาคม 1941. เชนย่าตาย. คุณยายตาย 25 มกราคม 1942, 17 มีนาคมเลก้าตาย, คุณลุงวาสยาตาย 13 เมษา. 10 พฤษภาคม – ลุงโลช่า. แม่ - 15 พฤษภาคม». จากนั้นก็เขียนต่อไปว่า: « ครอบครัวซาวิชิว่าตาย ตายทุกคน ยังเหลือก็แต่ฉันคนเดียว ทันย่า».

เด็กผู้หญิงคนนี้ถูกพบโดยพนักงานทำความสะอาดของเมืองที่ทำหน้าที่สำรวจความเรียบร้อยตามบ้าน หล่อนถูกพบในสภาพที่หมดสติเนื่องจากขาดอาหาร หลังจากนั้นก็ถูกส่งไปรักษายังชนบทที่ใกล้เคียง เป็นเวลากว่า 2 ปีที่หมอพยายามจะช่วยรั้งชีวิตเธอเอาไว้ แต่ในที่สุดเด็กน้อยก็จากไปในวันที่ 1 กรกฎาคม 1944

นอกจากเรื่องนี้แล้ว ยังมีคำบอกเล่าของชายคนหนึ่งที่ชื่อว่า Z.A. Ignatovich ที่ได้เล่าถึงประสบการณ์ที่ตนเองได้ประสบในขณะที่เข้าคิวรอรับอาหารว่า “ตอนนั้นด้านหน้าผมมีเด็กผู้ชายตัวเล็กๆ คนนึง อายุประมาณเก้าขวบเป็นไปได้ เขาสวมผ้าบางๆ แล้วด้านนอกก็พันตัวด้วยผ้าห่มสำลีอีกที เด็กชายคนนี้ยืนหนาวสั่นอยู่ ตอนนั้นมันหนาวมาก คนที่ต่อคิวส่วนหนึ่งก็เดินออกไปกันบ้างแล้ว บางคนก็มีคนมาสับเปลี่ยน แต่เด็กผู้ชายคนนี้ก็ยังยืนอยู่ไม่ไปไหน ผมก็เลยถามเด็กคนนั้นไปว่า “ไม่ไปพักให้หายหนาวก่อนเหรอ” เด็กน้อยตอบกลับมาว่า “ที่บ้านก็หนาวไม่ต่างกันหรอก” ผมพูดต่อว่า “อะไรกัน เธออยู่คนเดียวหรือไง” เด็กน้อยตอบ “ก็ไม่หรอก ผมอยู่กับแม่” ผมย้อนถามกลับไปว่า “แล้วแม่มาไม่ได้เหรอ” เด็กน้อยตอบ “แม่มาไม่ได้หรอก แม่ตายแล้ว” ผมถาม “หมายความว่าไงที่ว่าแม่ตาย” เด็กน้อยก้มหน้าตอบ “แม่ผมตายแล้ว สงสารแม่ ผมก็ว่าแล้วเชียวว่าผมทายถูก ตอนกลางวันผมเอาแม่ไปไว้บนที่นอน ส่วนตอนกลางคืนก็เอาไปใกล้ๆ เตาผิง แต่ทำยังไงแม่ก็ตาย ตัวแม่ก็เย็นอยู่ดี ”

นี่เป็นหนึ่งในความทรงจำที่ผู้คนในเมืองเลนินกราดในขณะนั้นยังคงจดจำ ก่อนที่เหตุการณ์ปิดล้อมเมืองมาสิ้นสุดในวันที่ 27 มกราคม 1944 นับเป็นว่าเกือบ 900 วันที่ผู้คนในเมืองต้องประสบกับความยากลำบากและการสูญเสียคนในครอบครัว จากบันทึกของหญิงคนหนึ่งได้กล่าวถึงเหตุการณ์เมื่อชาวเมืองได้รับรู้ถึงอิสรภาพจากการปิดล้อมที่ยาวนานว่า “ ในวันนั้นฉันยังจำเหตุการณ์ได้ตั้งแต่ตอนเช้า... พวกเราได้ยินประกาศทางวิทยุถึง พวกเราสวมกอดและจูบกันด้วยความดีใจ ในเย็นวันนั้นเราได้เห็นพลุที่สวยงามกระจายอยู่เต็มท้องฟ้า...แม้ว่าสิ่งที่หลงเหลือคือซากปรักหักพังของเมือง แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ พวกเรายังคงมีชีวิตอยู่ และไม่ว่าจะเป็นตอนนั้นหรือตอนนี้ พวกเราก็รักเมืองของเรามาก และฉันก็รู้สึกกับมันเสมือนกับว่าเป็นมนุษย์คนนึง”

หลังจากเหตุการณ์ในครั้งนั้นจวบจนบัดนี้ก็ยังคงไม่มีการประกาศตัวเลขของผู้เสียชีวิตทั้งหมดอย่างเป็นทางการ มีแต่ตัวเลขประมาณการณ์ที่ประเมินอย่างคร่าวๆ เอาไว้ เฉพาะผู้ที่เสียชีวิตจากการขาดแคลนอาหารอยู่ที่ 641000 คน (แต่จากบันทึกของนักประวัติศาสตร์มีประมาณ 800,000 คน) จากประชากรทั้งหมดกว่าสองล้านห้าแสนคน หลังสงครามมีผู้รอดชีวิตเพียง 560000 คน ซึ่งคนที่มีชีวิตเหลือส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง

เรียบเรียงโดย: Bussy Russia

อ้างอิง:
http://ru.wikipedia.org/wiki/Блокада_Ленинграда
http://ru.wikipedia.org/wiki/Санкт-Петербург
http://rus.ruvr.ru/2014_01_24/Letopis-blokadi-6660/

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้