“เมืองปิดในรัสเซีย” สถานที่เก็บความลับสุดยอดของรัฐที่ไม่อาจให้ใครล่วงรู้

Last updated: 31 ม.ค. 2560  |  2813 จำนวนผู้เข้าชม  | 

“เมืองปิดในรัสเซีย” สถานที่เก็บความลับสุดยอดของรัฐที่ไม่อาจให้ใครล่วงรู้

“เมืองปิดในรัสเซีย” สถานที่เก็บความลับสุดยอดของรัฐที่ไม่อาจให้ใครล่วงรู้ 

 เมื่อพูดถึงประเทศมหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ารัสเซียถือเป็นหนึ่งในประเทศเหล่านั้น  ที่รัสเซียเป็นมหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่ได้ทุกวันนี้เกิดจากหลายปัจจัย  หนึ่งในนั้นก็คือ ศักยภาพทางด้านทหาร  เทคโนโลยีและการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์  ที่มาของการเป็นมหาอำนาจในปัจจุบันไม่ได้เกิดขึ้นมาอย่างง่ายดายและรวดเร็ว  เพราะสิ่งต่างๆที่ชาติได้มาทุกวันนี้เกิดจากความอดทนและเสียสละของคนในชาติ  แต่ก็คงจะไม่มีใครที่รับรู้ถึงสิ่งเหล่านี้ได้ดีไปกว่าชาวรัสเซียที่เกิดและมีชีวิตอยู่ในสมัยสหภาพโซเวียต ประชาชนในสมัยนั้นหรือแม้แต่ในปัจจุบันส่วนหนึ่งต้องยอมสูญเสียอิสรภาพ และเสรีภาพ ส่วนบุคคลภายใต้การครอบงำของรัฐ  เพียงเพื่อเหตุผลเดียว คือ การรักษาความลับของชาติ

 

หนึ่งในวิธีการสร้างความยิ่งใหญ่ของรัสเซีย  ก็คือ การพัฒนาศักยภาพทางการทหาร โดยเฉพาะอาวุธที่รัสเซียให้ความสำคัญ  ด้วยเหตุนี้ จึงได้มีการจัดตั้งเมืองเพื่อใช้เป็นสถานที่ที่พัฒนา ศึกษา วิจัย ทางวิทยาศาสตร์และอาวุธนิวเคลียร์โดยเฉพาะ  ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเมืองเหล่านี้มีการก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 1930s แต่รัฐเพิ่งมาให้ความสำคัญในฐานะเป็นสถานที่เก็บอาวุธยุทโธปกรณ์และขีปนาวุธนิวเคลียร์ก็หลังจากที่เกิดเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่สองแล้ว  ครั้งนั้นสายลับของสตาลินได้ส่งข่าวถึงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ในยุโรป  ทำให้โซเวียตสมัยนั้นมองเห็นความจำเป็นในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ในประเทศตนอย่างจริงจัง  การที่สหรัฐฯ ส่งขีปนาวุธทำลายล้างไปยังเมืองฮิโรชิมา และนางาซากิ ยิ่งทำให้โซเวียตยิ่งต้องเร่งพัฒนาศักยภาพอาวุธนิวเคลียร์ของตนให้ทัดเทียมกับคู่แข่ง  ดังนั้นในเดือน กุมภาพันธ์ 1943 สตาลินจึงได้มีคำสั่งให้สร้างเมืองเหล่านี้ขึ้นอย่างเร่งด่วน  ซึ่งในขณะนั้นประกอบไปด้วย 10 เมืองด้วยกัน หนึ่งในนั้นก็คือ  เมืองซารอฟ Саров ซึ่งปัจจุบันถือเป็นเมืองปิดที่สำคัญมาก  กิจการต่างๆของรัฐ ภายในเมืองนี้ถูกปิดเป็นความลับสุดยอด

 
เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจ ก่อนอื่นคงจะต้องอธิบายความหมายของคำว่า “เมืองปิด” ให้ทราบกันก่อน  คำว่าเมืองปิด ที่เรากำลังจะพูดถึงต่อไปนี้  เป็นที่รู้จักกันในนาม ซาโต้ หรือ เขตการบริหารพื้นที่ในรูปแบบปิด ( “ЗаТО “Закрытое административно-территориальное образование”)  เป็นเมืองที่ไม่เปิดให้เข้าออกได้อย่างเสรีเช่นเมืองอื่นๆ   เนื่องจากเมืองเหล่านี้รัฐบาลใช้เป็นสถานที่ในการศึกษา วิจัย ทางวิทยาศาสตร์  พัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์ทางทหาร  รวมไปถึงเป็นสถานที่จัดทำและทดสอบขีปนาวุธต่างๆ เมืองเหล่านี้จึงถือเป็นเมืองที่กุมความลับทางราชการเอาไว้มากมาย  ดังนั้น  จึงต้องมีการควบคุมการเข้าออกภายในอย่างเคร่งครัด  เรียกได้ว่า  คนธรรมดาๆ อย่างเราๆ ยิ่งเป็นต่างชาติด้วยแล้วแทบจะไม่มีสิทธิที่จะย่างกรายเข้าไปในดินแดนเหล่านั้นได้เลย

 

ในสมัยสหภาพโซเวียต  ภายในเมืองปิดเหล่านี้ไม่อนุญาตให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้าไปเป็นอันขาด ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม  แต่ในปัจจุบันบางเมืองอนุญาตให้เข้าไปได้ แต่ต้องได้รับการอนุญาตอย่างเป็นทางการจากทางราชการ  ซึ่งก็ไม่ต่างจากชาวรัสเซีย ที่จะต้องได้รับใบอนุญาตอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร แม้แต่ชาวเมืองที่มีชีวิตอยู่ในนั้นเองก็ตาม  โดยขั้นตอนต่างๆ ก็มีความซับซ้อนยุ่งยาก และใช้เวลาพิจารณานาน

 

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเมืองปิดเหล่านี้ในสมัยโซเวียตถูกเก็บเป็นความลับในทุกเรื่อง  ไม่ว่าจะเป็นชื่อ  สถานที่ตั้ง  แม้แต่ในแผนภาพถ่ายดาวเทียมหรือระบบนาวิเกเตอร์ก็ห้ามไม่ให้มีการระบุพิกัดของที่ตั้งเมืองเหล่านั้นว่าอยู่ที่ใด  มีการตัดสัญญาณการค้นหา เช่นตัดสัญญาณ GPS จากประเทศอื่น  และการที่ใครก็ตามที่เปิดเผยสถานที่ตั้งหรือข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับเมืองเหล่านี้จะได้รับบทลงโทษในฐานะที่เอาความลับทางราชการออกมาเผยแพร่  เมืองปิดในสหภาพโซเวียตในอดีตนั้นมีทั้งหมด 103 เมืองด้วยกัน  (แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 44 เมือง  ซึ่งก็ยังคงมีระบบการรักษาความปลอดภัยที่เคร่งครัดอยู่ และไม่อนุญาตให้เข้าออกอย่างเสรี)

 

ในสมัยโซเวียต  แม้แต่ชื่อของเมืองปิดเหล่านี้รัฐบาลยังมีวิธีการตั้งที่แยบยล เช่น  การใช้ชื่อเมืองอื่นแล้วบวกด้วยตัวเลขข้างท้าย  เช่น Томск-7, Красноярск-26, Челябинск-40, Сальск-7  วิธีการตั้งชื่อเช่นนี้  ทำให้ชาวเมืองปิดสามารถตอบคำถามทั่วๆ ไปของผู้คนที่ถามว่าบ้านอยู่ที่ไหนได้  โดยใช้คำตอบที่รัฐจัดไว้ให้  เช่น ฉันมาจากทอมสค์  เพื่อไม่ให้ผู้คนตั้งคำถามต่อไปว่าเมืองตั้งอยู่ที่ไหน  การใช้ชื่อเมืองที่มีอยู่จึงทำให้ชาวเมืองสามารถตอบคำถามเหล่านั้นได้  นอกจากนี้  ชาวเมืองจะต้องตอบคำถามในรูปแบบที่รัฐกำหนดให้เท่านั้น และห้ามนำเอาข้อมูลของเมืองออกมาเผยแพร่เป็นอันขาด  ส่วนคนที่จะเข้ามาในเมืองได้จะต้องเป็นญาติสนิทเท่านั้น  ญาติห่างๆ หรือคนรู้จักก็ไม่มีสิทธิในการเข้ามาในเมืองเหล่านั้นเด็ดขาด  และการเข้ามาของคนจากที่อื่นจะได้รับอนุญาตตามระยะเวลาที่รัฐกำหนด  ซึ่งจะว่าไปก็ไม่ต่างกับการขอวีซ่าไปต่างประเทศ

 

เมื่อปี 2010 ที่ผ่านมา  ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ปูติน ได้เห็นชอบกับกฎหมายว่าด้วยเรื่องการระบุพิกัดและตำแหน่งที่ตั้งของสิ่งต่างๆบนดินแดนรัสเซีย  ซึ่งรวมไปถึงเมืองปิดต่างๆ เหล่านั้นด้วย  ผลจากกฎหมายนี้ก็ทำให้ประชนชนทั่วไปสามารถรับรู้ข้อมูลเมืองปิดเหล่านี้ได้  แต่ก็มีข้อจำกัดว่า ข้อมูลเหล่านั้นจะต้องไม่จัดอยู่ในข้อมูลที่ถือเป็นความลับของทางราชการ 

 

เมืองปิดก็แบ่งออกเป็นระดับความสำคัญของเมือง  ระบบการรักษาความปลอดภัยก็แตกต่างกันไป  บางเมืองไม่อนุญาตให้มีที่พักอาศัย  บางเมืองก็ให้ชาวเมืองพักอาศัยได้  แต่ชาวพื้นเมืองเหล่านี้จะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมทั้งทางด้านสิทธิและเสรีภาพ ซึ่งการบริหารงานต่างๆ ภายในเมืองเหล่านี้อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงพลังงานนิวเคลียร์และกระทรวงกลาโหม  ดังนั้น  ไม่ว่าชาวเมืองจะเดินทางออกหรือเข้ามาในเมืองทุกครั้งจะต้องได้รับใบอนุญาตจากทางราชการเป็นลายลักษณ์อักษร  และไม่ใช่ว่านึกจะเชิญใครเข้ามาในเมืองจะทำได้ง่ายๆ เพราะทุกอย่างอยู่ภายใต้การพิจารณาของทางการว่าจะให้ใครเข้าหรือไม่ให้ใครเข้า การที่ชาวเมืองปิดเหล่านี้ถูกริดรอนสิทธิ และเสรีภาพส่วนหนึ่งเพื่อรักษาความลับของประเทศ  รัฐก็ได้ชดเชยสิ่งที่ชาวเมืองเหล่านี้เสียไปด้วยการอำนวยสาธารณูประโภคที่ดีกว่ามาตรฐานทั่วๆ ในเมืองอื่นๆ รวมไปถึงค่าแรงและเงินเดือนที่มากกว่านเมืองอื่นๆ ด้วย  ผลจากการที่รัฐจำกัดการเข้าออกของคนท้องถิ่นและการคัดกรองการเข้ามาของคนจากแหล่งอื่น  ทำให้ปัญหาการเกิดอาชญากรรมต่างๆ ในเมืองเหล่านี้มีไม่มาก

 

หลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต  จำนวนของเมืองปิดก็ลดลงเรื่อยๆ โดยรายชื่อเมืองเหล่านี้ถูกระบุอยู่ในกฎหมายพิเศษที่ทำขึ้นในปี 1992  ชื่อเมืองเหล่านี้ก็เปลี่ยนจากที่เคยกำกับด้วยตัวเลขเป็นชื่อเมืองที่เป็นชื่อเฉพาะเหมือนเมืองทั่วๆไป เช่น  เชลยาบินสค์-70 (Челябинске-70) ปัจจุบัน คือ สเนชินสค (Снежинск) เป็นต้น  ปัจจุบันเมืองปิดมีทั้งหมด 44 เมืองด้วยกัน มีผู้อาศัยอยู่รวมทั้งสิ้นประมาณ 1,300,000 คน  พูดได้ว่า ในชาวรัสเซีย 100 คน จะมี 1 คนที่มาจากเมืองปิด   เมืองปิดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดมีชื่อว่า เซเวียรสค  (Северск)  มีประชากรอาศัยอยู่รวมทั้งสิ้น 120,000 คน  ส่วนเมืองที่มีขนาดเล็กที่สุดคือ เมือง ชึฮานึย (Шиханы)  มีประชากรรวมทั้งสิ้นประมาณ 8,000 คน 

 

ผู้คนที่มีชีวิตอยู่ในเมืองปิดเหล่านี้  ก็ใช่ว่าจะรับรู้ความเป็นไปของเมืองในทุกเรื่อง  เนื่องจากเมืองปิดส่วนหนึ่งมีการสร้างสถานที่เก็บยุทโธปกรณ์และขีปนาวุธต่างๆ ไว้ใต้ดิน  ประหนึ่งเมืองทางทหารเมืองหนึงเลยทีเดียว  ใต้ดินมีระบบสาธารณูปโภคไม่ต่างไปจากบนดิน  รวมไปถึงอุปกรณ์ที่ให้ความอุ่นในหน้าหนาว  โดยผู้ที่เป็นผู้ริเริ่มแนวคิดนี้ก็คือนาย ซาฮารอฟ (А.Д.САХАРОВ) เขาได้เสนอแนวคิดว่า  ควรจะจัดตั้งสถานที่เก็บอาวุธเหล่านี้ไว้ใต้ดินเพื่อป้องกันอันตรายที่อาจจะส่งผลต่อความปลอดภัยของประชาชนและธรรมชาติ  ในขณะนั้นแนวคิดนี้ดูเหมือนจะยังห่างไกลและหลายคนมองว่ามันเกินกว่าความเป็นจริงที่จะเป็นไปได้  แต่ต่อมาก็ได้มีการนำเอาแนวคิดนี้มาใช้  เช่น ในเมือง กราสนายารสกา-26( Красноярска-26.) และหลายต่อหลายเมืองที่ปิดเมืองปิดในไซบีเรีย  มีการสร้างเมืองใต้ดินโดยเฉพาะเพื่อเก็บอุปกรณ์และขีปนาวุธร้ายแรง  รวมถึงเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์   ที่ได้มาจากแนวคิดของนายซาฮารอฟ นั่นเอง 

 

นอกจากเมืองปิดแล้ว  ยังมีเมืองที่ไม่ถือว่าเป็นเมืองปิด แต่ไม่อนุญาตให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้าไปได้ ยกเว้นสัญชาติเบลารุส  เช่น เมืองНорильск (นาริลสค) и ดูดินก้า (Дудинка ) ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน 2001 ซึ่งจะเข้าไปได้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากทางราชการ  จากก่อนหน้านี้ตั้งแต่ปี 1991 ชาวต่างชาติเคยสามารถเข้าออกได้อย่างเสรี

 

ในปัจจุบันยังคงมีผู้คนส่วนหนึ่งที่ชื่นชอบประวัติศาสตร์และอยากเข้าไปเสาะหาความลับที่ซ่อนอยู่ในเมืองเหล่านั้น  ซึ่งความพยายามเหล่านี้เรียกได้ว่าเริ่มมีมาตั้งแต่สมัยที่เมืองปิดเพิ่งเริ่มขึ้นในยุคแรกๆ  เหตุการณ์หนึ่งที่น่าสนใจในสมัยโซเวียตที่แสดงให้เห็นถึงการพยายามเข้าไปในเมืองปิดก็คือ  ในสมัยนั้นมีเมืองหนึ่งที่มีชื่อว่า  ซัสโนวึย บอร์ (Сосновый Бор)  ตั้งอยู่ในเขตเลนินกราด โอบลัสต์  เมืองนี้เป็นเมืองที่มีร้านค้าเยอะแยะมากมาย  และในขณะเดียวกันก็เป็นเมืองปิดที่ภายในมีการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ (ปัจจุบันไม่ได้เป็นเมืองปิดแล้ว และเปิดให้เข้าออกได้อย่างเสรี)   ในเวลานั้น สถานีรถไฟที่อยู่ใกล้กับเมืองที่สุดมีชื่อเรียกว่า กาลิเช่ (Калище)  ซึ่งเป็นสถานีที่ผู้โดยสารสามารถเปลี่ยนสายการเดินรถไปยังเมืองอื่นๆ ที่อยู่ในเขต เลนินกราด โอบลัสต์ ได้   ด้วยเมือง ซัสโนวึย บอร์ (Сосновый Бор) เป็นเมืองปิด   พนักงานจะทำการตรวจสอบใบอนุญาตเข้าเมืองและเอกสารจากผู้เดินทางที่ซื้อตั๋วเพื่อลงที่สถานี กาลิเช่ (Калище) อย่างเคร่งครัด  แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ตรวจเอกสารของคนที่ซื้อตั๋วที่ไปลงสถานีอื่นๆ  เช่น  คัทลึย (Котлы) หรือ กาโปริเย( Копорье )  ซึ่งจำเป็นต้องแวะเปลี่ยนสายการเดินรถที่สถานี  กาลิเช่ (Калище)  เช่นเดียวกัน  ด้วยช่องโหว่นี้  ทำให้คนที่ต้องการเดินทางไปยังเมือง ซัสโนวึย บอร์ (Сосновый Бор) เลือกซื้อตั๋วที่แพงขึ้นกว่าเดิมนิดหน่อย  เพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่ถามและเพื่อแลกกับการไปช้อปปิ้งภายในเมืองนั้น  เป็นต้น

 
สำหรับคนไทยอย่างเราแล้ว  การเดินทางเข้าไปในเมืองเหล่านี้คงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก  แต่อย่างน้อยจากบทความนี้ก็คงจะทำให้ผู้อ่านได้รับรู้ถึงความยิ่งใหญ่ของรัสเซียด้านผู้นำทางขีปนาวุธและศักยภาพทางทหาร  และที่สำคัญทำให้เราเข้าใจชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนที่นั่น  ที่พร้อมจะทำทุกอย่างเพื่อแลกมาซึ่งความยิ่งใหญ่ของประเทศแม้ว่าจะถูกลิดรอนสิทธิบางส่วนของตนก็ตาม  ซึ่งคนเหล่านี้ถือเป็นกลไกสำคัญที่ผลักดันให้ประเทศก้าวไปสู่ความสำเร็จ.....

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้