เตือนภัยผู้ส่งออกสินค้าไทยมารัสเซีย (รู้ไว้ก่อนจะสาย)

Last updated: 15 พ.ค. 2564  |  2428 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เตือนภัยผู้ส่งออกสินค้าไทยมารัสเซีย (รู้ไว้ก่อนจะสาย)


เตือนภัยผู้ส่งออกสินค้าไทยมารัสเซีย

(ยาวนะ แต่อยากให้คนที่ทำธุรกิจส่งออกอยู่ อ่านให้จบ)

--------------------------------------

เมื่อไม่นานมานี้แอดได้มีโอกาสช่วยนักธุรกิจรัสเซียรายหนึ่งเจรจาเพื่อยุติข้อพิพาทกับผู้ประกอบการไทยในประเด็นเกี่ยวกับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เรื่องของเรื่องก็คือ ผู้นำเข้าชาวรัสเซียต้องการลงทุนจำหน่ายสินค้าจากผู้ประกอบการรายนี้ และต้องการปกป้องผลประโยชน์ตัวเองในการทำการตลาดในรัสเซีย โดยแจ้งกับผู้ประกอบการไทยว่าตนเองจะขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของสินค้าแบรนด์ดังกล่าวในรัสเซีย แต่ไปคุยอะไรกันยังไงไม่รู้ดันเกิดเรื่องดราม่าที่ทำให้สองฝ่ายไม่เข้าใจกันขึ้น ทางผู้ประกอบการไทยคิดว่าผู้นำเข้าชาวรัสเซียที่เป็นคู่ค้าต้องการฮุบแบรนด์สินค้าไปเป็นของตัวเอง คุยกันเองท่าจะไม่รู้เรื่อง นักธุรกิจรัสเซียรายนี้ซึ่งสนิทกับแอด เลยมาขอให้แอดช่วยเป็นล่ามอธิบายสถานการณ์ในรัสเซียให้บริษัทไทยเข้าใจ จากเรื่องราวของเคสนี้ ทำให้แอดมองว่าควรจะเขียนบทความขึ้นมาเพื่อเตือนภัยกับผู้ประกอบการไทยรายอื่นที่กำลังส่งออกสินค้ามารัสเซีย หรือเตรียมตัวจะส่งออกสินค้ามารัสเซีย
-------------------------
เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น แอดขออนุญาตยกตัวอย่าง สมมุติว่าแอดนำเข้าสินค้าไทยแบรนด์หนึ่งมาขายในรัสเซีย เอาเป็นว่า น้ำปลาร้า ยี่ห้อ “ปลาร้าแม่บุซซี่” ก็แล้วกัน แอดเคลียร์เอกสารการนำเข้ามารัสเซียเรียบร้อย ได้รับใบอนุญาตในการนำเข้าทุกอย่าง หลังจากสินค้าล็อตแรกมาถึงรัสเซีย แอดก็ทุ่มเงินจำนวนมหาศาลลงไปในการโปรโมทแบรนด์ปลาร้ายี่ห้อนี้ สินค้าเริ่มเป็นที่รู้จักและมีแนวโน้มเป็นไปได้ดีในตลาด แต่จากนั้นจู่ๆ เมื่อแอดสั่งสินค้าล็อตที่สามเข้ามา แอดกลับไม่สามารถเอาสินค้าออกจากท่าได้ ด้วยเหตุผลที่ว่า มีคนมาร้องเรียนบอกสินค้าในตู้นั่นเป็นสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ของเค้า เพราะแบรนด์ "ปลาร้าแม่บุซซี่" ได้ถูกจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไปเรียบร้อยแล้ว อ้าว....... ถึงเวลานั้นพระเจ้าช่วยกล้วยทอด แล้วจะทำยังไงกับสินค้าในตู้ที่ออกจากท่าไม่ได้ล่ะ เมื่อติดต่อไปยังคนที่ร้องเรียน ก็ได้คำตอบว่าสินค้าที่แอดกำลังจะนำเข้าเลียนแบบชื่อแบรนด์เค้า จากนั้นก็จะตามมาด้วยประโยคว่า “ถ้าอยากเอาสินค้าออกจากท่า ก็เสียค่าแบรนด์มาให้เค้า เพราะชื่อแบรนด์นี้เป็นของเค้า แต่ถ้าไม่จ่าย ก็ต้องส่งสินค้าตู้นี้กลับไปไทยซะ”
----------------------
คำถามในใจผู้ประกอบการไทยทุกคนคือ “เค้าเอาแบรนด์เราไปจดได้ไง เรายังไม่ได้อนุญาตเลย“ คำตอบคือ จดได้สิ เพราะการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในรัสเซียเค้าเชคเฉพาะการจดในรัสเซียว่ามีใครจดมาก่อนหน้านี้หรือไม่ ถ้าไม่มี...ใครก็ได้มีสิทธิที่จะยื่นขอจดแบรนด์สินค้านั้นๆ อย่าลืมว่าแบรนด์สินค้าที่จดทะเบียนเฉพาะในไทย มีผลเฉพาะในประเทศไทย
---------------------
ด้วยเหตุนี้ มันเลยทำให้มีพวกหัวหมอ เฟ้นหาสินค้าที่ขายดีๆ รวมถึงสินค้านำเข้าที่ยังไม่ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า จากนั้นก็เอาชื่อไปยื่นจด (แน่นอนว่าเค้าต้องเลือกแบรนด์ที่มีแนวโน้มจะขายดีในตลาด เพราะเค้าต้องลงทุนจดทะเบียนหลายหมื่นบาท) หลังจากจดแล้วก็หาช่วงเวลาเหมาะๆ เล่นงานคนนำเข้า และขุดรีดเงินให้จ่ายค่าแบรนด์ ทำให้มีผู้นำเข้าสินค้าไทยบางรายต้องตกเป็นเหยื่ออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รวมถึงทำให้ผู้ประกอบการไทยสูญเสียความสามารถในการทำตลาดในรัสเซียเพราะมีคนที่ขูดรีดเงินอยู่ตรงกลาง หรือไม่งั้นก็ต้องเปลี่ยนชื่อไปใช้แบรนด์ใหม่ ซึ่งมันก็ไม่ต่างจากการเริ่มทำการตลาดใหม่ เงินที่ทุ่มไปกับแบรนด์เดิมก็คือศูนย์ ใครล่ะ จะอยากเสี่ยงนำเข้าสินค้าแบบนี้ที่วันดีคืนดีอาจจะโดนขูดรีดเงินตอนไหนก็ไม่รู้
------------------------
วิธีการจดเครื่องหมายการค้าของพวกมิจฉาชีพกลุ่มนี้ จริงๆ จะเรียกว่ามิชฉาชีพเลยก็คงไม่ถูกนัก แม้ว่าวัตถุประสงค์ของเค้าเราจะรู้ว่าเค้าทำเพื่ออะไรก็ตาม เพราะรูปแบบที่เค้าใช้มันเป็นรูปแบบที่ถูกกฎหมาย วิธีการของคนกลุ่มนี้นั้นไม่ได้ซับซ้อนอะไรเลย เช่น ตัวอย่าง “ปลาร้าแม่บุซซี่” ที่แอดยกมา โลโก้บนฉลากสินค้าอาจจะเป็นรูปผู้หญิงอุ้มไหปลาร้าแล้วมีอักษรใต้ล่างว่า “ปลาร้าแม่บุซซี่” พวกมิจฉาชีพมันจะไม่จดโดยการเอาโลโกนี้ไปจด แต่จะใช้วิธีการจดด้วยการใช้ชื่อแบรนด์ด้วยอักษรธรรมดาๆ ว่า “ปลาร้าแม่บุซซี่” เท่านี้ เค้าก็กลายเป็นเจ้าของแบรนด์สินค้าที่มีชื่อนี้ได้ง่ายๆ และใครจะมาใช้ชื่อแบรนด์นี้ไม่ว่าจะมีโลโก้อะไรก็ตามมาเป็นส่วนประกอบก็ไม่สามารถจดได้ ด้วยเหตุผลที่ว่า “สร้างความสับสนให้กับผู้บริโภค” และนี่ก็เลยเป็นสาเหตุที่ว่า ทำไมมิจฉาชีพพวกนี้จึงจดแบรนด์ได้เองโดยไม่ต้องขออนุญาตเจ้าของแบรนด์ตัวจริง แถมวิธีการจดมันดันถูกต้องตามกฎหมายซะด้วยสิ
----------------------
เคสที่เกิดข้อพิพาทกันนั้นก็เนื่องจากผู้ประกอบการไทยไม่ทราบว่ามีมิจฉาชีพกลุ่มนี้ในรัสเซีย ที่แอบเอาแบรนด์ไปจด ทำให้ผู้นำเข้าที่เป็นคู่ค้าต้องการปกป้องแบรนด์ที่ตัวเองจะเอามาทำการตลาด เพราะเกรงว่าต่อไปจะโดนขูดรีดเงินแบบหลายๆ เคสที่เค้าเคยรับรู้มา บทสรุปของเคสนี้ก็คือ ทางผู้นำเข้าชาวรัสเซียไม่ได้ประสงค์จะยึดแบรนด์นี้เป็นของตัวเอง และถ้าหากผู้ประกอบการไทยจะเป็นคนจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในนามบริษัททางเค้าก็ไม่ได้ขัดข้อง ทางผู้นำเข้าต้องการเพียงแค่ความมั่นใจในการลงทุนทำธุรกิจของเค้าว่าต่อไปมันจะไม่มีปัญหาเท่านั้นเอง แต่ในฐานะผู้ประกอบการไทยก็คงไม่อยากให้คู่ค้าคนไหนเอาแบรนด์ของตัวเองไปจดเพราะมันคือทรัพย์สินทางปัญญาของทางบริษัท แต่การที่จะจดเอง ก็มีค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียน ซึ่งอันนี้ก็ต้องดูถึงความคุ้มค่าในทางธุรกิจของตัวเองในอนาคต
----------------------
ดังนั้น แอดอยากจะให้ผู้ประกอบการไทยที่กำลังส่งสินค้ามาจำหน่ายในรัสเซียได้ระวังตัวกันไว้ และถ้าหากใครอยากรู้ว่า แบรนด์ของตัวเองถูกแอบจดทะเบียนไปแล้วหรือยัง สามารถแจ้งแอดกลับมาทางข้อความได้ แอดสามารถตรวจสอบเบื้องต้นให้ได้ ปัจจุบันมีผู้ประกอบการไทยหลายรายที่ตกเป็นเหยื่อแล้วแต่ไม่รู้ตัว หากว่าผู้ประกอบการไทยรายไหนพิจารณาแล้วเห็นว่า การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในรัสเซียนั้นคุ้มค่า ก็ควรจะต้องรีบจัดการแต่เนิ่นๆ เพื่อให้การทำธุรกิจของตัวเองในรัสเซียเป็นไปอย่างราบรื่น และไม่ต้องกลัวว่าลูกค้าในต่างประเทศจะโดนใครรีดไถเงินแบบหลายๆ เคสที่เป็นอยู่ขณะนี้

--------------------------------------------------

ติดตามบทความของเราได้ที่ : www.facebook.com/thairussianhub

ส่งออกสินค้าไทยมารัสเซีย
#เตือนภัยผู้ส่งออก
 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้